วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

“Community Marketing” เสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ ด้วยการตลาดชุมชน

 

Community Marketing คืออะไร??

          “Community Marketing” หรือการตลาดชุมชน  เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาดที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสร้างชุมชนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความต้องการหรือมีความสนใจในแบรนด์สินค้าบริการเหมือนกัน  ในช่องต่างๆ เช่น  Website , Facebook Close Group , Twitter หรือใน Line Group ซึ่งเจ้าของแบรนด์และนักการตลาดสามารถใช้การตลาดชุมชนโดยการมุ่งเน้นไปที่การสนทนา การให้ข้อมูล แบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชนเป็นการดึงดูดความสนใจและสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมหรือการเสนอความคิดเห็นในเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เจ้าของแบรนด์หรือสินค้าสามารถนำความคิดเห็นดังกล่าวมาจัดทำกลยุทธ์การกตลาดเพื่อให้สามารถเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชนให้กลายเป็นลูกค้าที่มีความภักดีของแบรนด์ได้ในที่สุด

 

5.เคล็ดลับ ในการใช้ Community Marketing ให้ปัง


1. สร้างแพลตฟอร์มการตลาดชุมชนให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

           เจ้าของแบรนด์และนักการตลาดต้องมีความเข้าใจในไลฟ์สไตล์การใช้สื่อต่างๆของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อให้สามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มในการสร้าง Community Marketing หรือการตลาดชุมชนได้อย่างเหมาะสมและเกิดการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น  เช่น ชุมชนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายวัยรุ่นส่วนใหญ่จะถูกดึงดูดไปยังชุมชนบน Facebook , Twitter  หรือชุมชนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สนใจในเรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ ก็จะอยู่ใน Website ,Facebook หรือ Line เป็นต้น


 2.ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชน

            การทำ Community Marketing หรือการตลาดชุมชนของแบรนด์สินค้าบริการให้ได้ผลคือการให้ความสำคัญไปที่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดความสนใจและอยากมีส่วนร่วมกับชุมชนมากกว่าการเน้นไปที่การขายสินค้าบริการ  เช่น  การสร้างชุมชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ โดยการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์พร้อมให้คำปรึกษาสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีปัญหาหรือตอบข้อสงสัยต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สนใจสถานที่พัก เป็นต้น  ซึ่งการให้ข้อมูลหรือการแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและแบรนด์สินค้าบริการเป็นอย่างมาก และหากใช้ได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชนให้กลายเป็นลูกค้าที่ภักดีของแบรนด์สินค้าบริการได้เป็นอย่างดีและสามารถทำให้เกิดการบอกต่อ (word-of-mouth) ไปยังคนอื่นๆได้อีกด้วย


3.เนื้อหาในชุมชนต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา 

          นอกจากการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว สิ่งหนึ่งของการทำ Community Marketing ที่ดีคือการทำให้ชุมชนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เกิดการ Active ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของเจ้าของแบรนด์และนักการตลาดในการที่จะช่วยสร้างบทสนทนาหรือเข้าไปคุยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้น เพื่อทำให้ชุมชนนั้นมีความเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ และเนื้อหาในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้นต้องมีความหลากหลายและทันสมัยเพราะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความสนใจในแต่ละเรื่องที่ต่างกัน ก็จะช่วยทำให้ชุมชนนั้นมีความน่าสนใจและทำให้คนอื่นๆเกิดการติดตามมากขึ้น


4.จัดกิจกรรมที่น่าสนใจให้สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วม

        การจัดกิจกรรมพิเศษในชุมชุนเพื่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือแสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์การใช้สินค้าหรือบริการ ตัวอย่างเช่น การจัดประกวดการปั้นเฟดของกางเกงยีนส์ชื่อดัง ของกลุ่มชุมชนคนรักยีนส์ โดยที่ผู้ชนะเลิศจะได้รางวัลพิเศษเป็นกางเกงยีนส์รุ่นพิเศษที่มีการผลิตในจำนวนที่น้อย (Limited edition) พร้อมกับการนำการเกงยีนส์จากผู้ผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย มาสร้างเรื่องราวของการปั้นเฟดยีนส์ด้วยการนำไปประชาสัมพันธ์ในแต่ละสาขา เป็นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมไว้และดึงดูดความสนใจสำหรับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่อยากปั้นยีนส์เฟดสวยๆ ได้เป็นอย่างดี เป็นต้น


5. เก็บข้อมูลจากความคิดเห็นเพื่อพัฒนาต่อยอด

       การสร้างการตลาดและบริหารชุมชนเป็นการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนมาก และคนเหล่านี้ถึงแม้จะมีความความสนใจและต้องการที่คล้ายกัน แต่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เจ้าของแบรนด์และนักการตลาดจึงควรรับฟังความคิดห็นที่แตกต่างของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชนนี้และนำมาวิเคราะห์จัดกลุ่มให้ดีก็จะทำให้เจ้าของแบรนด์สินค้าบริการและนักการตลาดเข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น และสามารถนำมาใช้ในการวางแผนงานในการปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว


      กล่าวได้ว่า Community Marketing หรือ การตลาดชุมชน เป็นแนวคิดการตลาดที่เน้นสร้างชุมชนสำหรับลูกค้าเป้าหมายที่มีความสนใจร่วมกันขึ้นมา ซึ่งความสนใจนั้นมีความสัมพันธ์กับธุรกิจแบรนด์สินค้าบริการ  โดยการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การใช้สินค้าหรือบริการระหว่างกัน สร้างความสุข ความไว้ใจ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หากเจ้าของแบรนด์และนักการตลาดนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถทำให้ลูกค้าเป้าหมายเปลี่ยนเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์และเกิดการบอกต่อได้ในที่สุดและเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์สินค้าบริการให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย :D

 

                                                        #การตลาด101


วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564



 Real-Time Marketing โหนกระแสให้ไว พาแบรนด์ให้ปัง

               ในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป คนทำงานที่บ้าน (Work from home)  ติดตามข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ การประชุมทางออนไลน์ (E-Meeting) การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านผ่าน Grab, Lineman หรือแม้กระทั่งการจับจ่ายซื้อสินค้าในช่องทาง Market Place ต่างๆ  ปฎิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้เป็นยุคที่การสื่อสารบนโลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคอย่างชัดเจน

           เจ้าของแบรนด์และนักการตลาดจำเป็นต้องหากลยุทธ์การสื่อสารการตลาดที่หลากหลายเพื่อทำให้สินค้าบริการเป็นที่รับรู้และเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและรวดเร็ว  ซึ่ง Real-Time Marketing (หรือ Real-Time Content) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นิยมของแบรนด์และนักการตลาดในการโหนกระแสข่าวเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นประเด็นพูดถึงในสังคม พาแบรนด์สินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและเกิดการจดจำได้รวดเร็ว


Real-Time Marketing คืออะไร

            Real-time Marketing  คือ กลยุทธ์การตลาดที่เชื่อมโยงสินค้าบริการกับกระแสข่าวเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมขณะนั้น นำมาสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้โดยง่ายและรวดเร็ว ซึ่งในยุคที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมอยู่บนโลกออนไลน์และ Social Media มากขึ้นนี้เอง เจ้าของแบรนด์นักการตลาดต้องพยายามติดตามเรื่องราวประเด็นในสังคมหรือเหตุการณ์ที่เป็นกระแสต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์หรือสร้าง Content ที่สร้างสรรค์ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็วเป็นสำคัญ  ต้องสั้น กระชับ เข้าใจง่าย และต้องสอดคล้องกับตัวตนของแบรนด์ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นแล้วรู้สึกชอบ สนใจ และเกิดการพูดถึงในช่วงกระแสดังกล่าว เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำให้แบรนด์สินค้าบริการสามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดการจำได้และทำให้เกิดการซื้อสินค้าได้ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้กลยุทธ์ Real- Time Marketing ในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น  Facebook, Twitter  เป็นต้น

 

  4 เทคนิค ทำ Real-Time Marketing พาแบรนด์ให้ปัง

     1. Content โดนใจ

       ก่อนอื่นเจ้าของแบรนด์หรือนักการตลาดต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำ Content ว่า Content นี้เราทำเพื่ออะไร ต้องการสื่อสารเรื่องใดกับกลุ่มเป้าหมาย จะลงในช่องทางใด  และช่วยแก้ปัญหา (Pain Point) หรือตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่  ซึ่งการสร้าง Content ต้องหาจุดที่แบรนด์สินค้ามีการเชื่อมโยงกับกระแสตลาดให้มากที่สุด เช่น การสร้าง Content ของแบรนด์สินค้า ต้องมีความสะดุดตา ล้อไปกับประโยคหรือคำพูดที่เป็นกระแสนั้นๆ  หรือในเชิงรูปภาพ ควรมีสีสันสดใส ล้อไปกับภาพของกระแสเพื่อสร้างการจดจำได้  หาก Content ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดนใจลูกค้าก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดีและสามารถทำให้เกิดเป็น Viral ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ควรเลือกเล่นกระแสที่เป็นประโยชน์และมุมบวกกับแบรนด์สินค้าเพื่อสร้างความเป็นมิตรกับลูกค้า และหลีกเลี่ยงการขายสินค้าอย่างจริงจัง หรือเล่นกระแสในมุมลบเพราะอาจจะส่งผลกระทบทำให้ลูกค้าปิดกั้นสื่อและทำให้แบรนด์เกิดความเสียหายได้

 2. สอดรับกับตัวตนหรือจุดยืนของแบรนด์

       นอกจากการสร้างสรรค์ Content ที่โดนใจและกำลังเป็นกระแสในสังคมอยู่นั้น เจ้าของแบรนด์หรือนักการตลาดควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของกระแสข่าวกับคาแรคเตอร์ของแบรนด์สินค้าว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงไม่ลืมที่จะทำให้ Content นั้นสอดรับกับตัวตนหรือจุดยืนของแบรนด์สินค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจและเกิดการจดจำตัวตนหรือจุดยืนของแบรนด์สินค้าได้ง่ายขึ้น

     3.ถูกจังหวะเวลา 

     Real-Time Marketing เป็นกลยุทธ์ที่ผูกติดกับกระแสตลาด กรอบช่วงเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ  การนำประเด็นเหตุการณ์มาสร้าง Content ควรทำให้ไวและปล่อยออกมาในช่วงที่กระแสกำลังร้อนแรง ก็จะทำให้ Content ของแบรนด์สินค้าบริการมีความน่าสนใจและเกิดการจดจำได้ง่าย เป็นการช่วยส่งเสริมให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ทันต่อกระแสสังคม สำหรับช่องทางในการปล่อย Content ควรพิจารณาเลือกช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ไวและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย Content จะถูกเห็นได้เร็วและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ความถี่ของสื่อที่ทำให้เกิดการพบเห็นก็ต้องมีความพอดีไม่มากเกินจนทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรำคาญได้หรือน้อยไปจนไม่ทำให้เกิดการพบเห็น

   4.แผนต่อเนื่องต้องมี  

      หลังจากที่แบรนด์สินค้าอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคแล้ว เจ้าของแบรนด์หรือนักการตลาดควรมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องและวางแผนต่อยอดจากการที่เราเล่นกับกระแสขณะนั้น เช่น การจัดรายการส่งเสริมการขาย  ลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้เร็วยิ่งขึ้น หรือการจัดกิจกรรมโพสรูปคู่กับสินค้าชิงรางวัล ผ่าน ทาง Facebook หรือ Instagram  พร้อม Hashtag เก๋ๆของแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มลูกค้ากับแบรนด์สินค้าและยังเป็นการสร้างรับรู้ในวงกว้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

 

                                           #การตลาด101


วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Data Driven Marketing กุญแจสำคัญสำหรับการทำตลาดในยุคนี้

 


         ในยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคเป็นอย่างมากและทำให้พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความต้องการสินค้าหรือบริการเฉพาะบุคคลมากขึ้น ยุคที่ลูกค้ามีทางเลือกในการรับสื่อได้หลากช่องทางตามความต้องการและมีรูปแบบสื่อที่พบเห็นเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งนักการตลาดจำเป็นต้องอาศัย ข้อมูล (Data) ในการนำมาใช้ในการทำกาตลาดยุคใหม่ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการและโดนใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น  Data Driven Marketing  จึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำการตลาดตลาดที่หลายธุรกิจกำลังนำมาใช้กันอย่างมาก เพื่อวางกลยุทธ์และให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจ


Data Driven Marketing คืออะไร

        Data Driven Marketing คือการทำการตลาดด้วยการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data) ที่เราเก็บได้จากกลุ่มลูกค้าที่มีต่อสินค้าหรือบริการในช่องทางต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ (Data Analytics) เพื่อหา Insight เช่น พฤติกรรม การมีส่วนร่วม ความชอบ แรงจูงใจที่ทำให้เกิดการซื้อหรือใช้บริการ เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ในการวางกลยุทธ์หรือการทำกิจกรรมทางการตลาด การพัฒนาสินค้าใหม่หรือบริการใหม่ การทำแคมเปญโฆษณา ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และนำไปสู่เป้าหมายทั้งยอดขายและกำไรทางธุรกิจทางธุรกิจที่วางไว้


Data – Driven Marketing ส่งผลดีต่อธุรกิจอย่างไร


1.ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้มากยิ่งขึ้น

        ข้อมูลที่ได้มาหากนำมาวิเคราะห์ก็จะสามารถทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้ในเชิงลึกว่า ลูกค้ามีความต้องการอะไร มีพฤติกรรมต่อการเลือกซื้อหรือใช้บริการอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาดสามารถนำข้อมูลต่างๆมาต่อยอดในพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ได้ตรงใจลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงได้มากยิ่งขึ้น (Personalization)  รวมถึงการสร้างคอนเทนต์ในการโปรโมทสินค้าและบริการ การเลือกช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มคน และช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มป้าหมายที่จะกลายมาเป็นลูกค้าในอนาคต รวมทั้งการทำให้ลูกค้าปัจจุบันกลายเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ (Customer Loyalty)ได้อีกด้วย



2. สามารถนำมาใช้ในกรวางกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

        นอกจากการทำให้เราเข้าใจ Insight ของลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นแล้ว หากนักการตลาดสามารถวิเคราะห์ และวัดผลลัพธ์จาก Data ได้เป็นจำนวนมาก ก็จะยิ่งทำให้เราวางแผนตัดสินใจในการทำธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น เร็วยิ่งขึ้น เช่น การใช้กลยุทธ์การตลาดของธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าที่ต่างกันในแต่ละภูมิภาค หรือพฤติกรรมการซื้อสินค้าในแต่ละช่องทางการจัดจำหน่ายที่แตกต่างกันอาจจะจัดทำขนาดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่มีความแตกต่างกันตามความต้องการใช้งานของลูกค้าในช่องทางนั้นๆ และจัดทำสื่อโฆษณาที่ใช้ไม่เหมือนกันในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้เกิดการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในแบบเฉพาะเจาะจงได้แม่นยำขึ้น ซึ่งก็จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้ธุรกิจของคุณ จากการนำ Data มาใช้ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างสินค้าและบริการที่เหนือกว่า เป็นต้น   


3 ช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น  

         การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นสิ่งที่สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจของเราได้ เพราะฉะนั้น การใช้ Data มาวิเคราะห์จะช่วยทำให้เรารู้ Feedback ของลูกค้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลา ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถนำมาวางแผนในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ตรงใจกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น  เช่น สมมติว่าเรามีธุรกิจขายกระเป๋าออนไลน์  นอกจากข้อมูลลูกค้าที่สนใจกระเป๋าของเราแล้ว เรายังสามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ สีสัน ของกระเป๋าที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มที่เข้ามาเยี่ยมชมสินค้า  ได้และสามารถคาดการณ์ถึงรูปแบบ สีสัน ของกระเป๋าที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มต้องการ รวมถึงการรับฟังข้อคิดเห็นของลูกค้า มีสิ่งไหนที่ลูกค้ายังอยากให้เราปรับปรุงเพิ่มเติม ก็การสามารถนำมาพิจารณาเพื่อใช้ในการวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆของธุรกิจในอนาคต รวมถึงการนำมาพัฒนาเรื่องคอนเทนต์และรูปแบบของสื่อโฆษณาเฉพาะกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย


 4.รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า  

         เนื่องจากลูกค้ายุคดิจิทัล จะมีพฤติกรรมค้นหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ได้ยึดติดในแบรนด์  แต่จะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองตนเองได้ดี  ดังนั้นการทำการตลาดจำเป็นต้องอาศัย Data ในการวางกลยุทธ์เพื่อดูแลลูกค้าเป้าหมายให้กลายเป็นลูกค้าประจำ ด้วยการวิเคราะห์ Insight ของลูกค้าจากช่องทางต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่า โฆษณา และเนื้อหาแบบแบบไหนตรงใจสำหรับลูกค้า รวมทั้งการจัดทำสื่อต่างๆ และการติดต่อลูกค้า เช่น Email Marketing และรับการ Feedback จากลูกค้า ผ่านหน่วยงาน Customer Service ที่รับปัญหาและช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าก็เป็นการช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูกค้าอีกด้วย จะเห็นได้ว่าการนำ  Data ที่ผ่านการวิเคราะห์มาใช้งานจะช่วยให้เราสามารถดูแลลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น


                                       #การตลาด101 

 

 

 


วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Influencer Marketing เลือกให้โดนและทำให้ปังได้อย่างไร

 

      

      ในปัจจุบันนี้ หลายธุรกิจต่างมีการแข่งขันที่สูงและผู้บริโภคเองก็มีพฤติกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น การสื่อสารรวมถึงการติดตามข่าวสารต่างๆ ส่วนใหญ่จะผ่านทาง Social Media มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram ,YouTube ,Twitter,  Line เป็นต้น  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เจ้าของแบรนด์และนักการตลาดจำเป็นต้องหาวิธีการต่างๆในการทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักและทำให้ผู้บริโภคเกิดการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆให้ได้มากที่สุด  Influencer Marketing จึงได้เข้ามามีบทบาทในการทำการตลาดในยุคนี้เป็นอย่างมาก

      Marketing 101 จึงพามาผู้อ่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Influencer Marketing และหลักการพิจารณาเลือกบุลคลหรือผู้มีอิทธิพลทางความคิดให้กับผู้อื่น (Influencer) อย่างไรให้โดนและทำให้ปังได้อย่างไรกันนะครับ


            


Influencer Marketing คืออะไร

      Influencer Marketing หรือ การตลาดแบบใช้บุคคลผู้มีอิทธิพลที่สามารถสร้างแรงจูงใจหรืออิทธิพลทางความคิดให้กับผู้อื่นได้  ซึ่งในปัจจุบันได้มีการใช้ Influencer Marketing กันเป็นอย่างมากในการนำเสนอสินค้าหรือบริการผ่านการนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบของการรีวิวการใช้  ภาพสินค้าบริการ หรือ VDO Clip ตามสไตล์ของ Influencer ในแง่มุมต่างๆผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Facebook , YouTube , Instagram , Twitter , Tiktok ซึ่งคนเหล่านี้จะมีผู้ติดตามเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่าฐานแฟนคลับ ที่คอยสนับสนุน (ดูได้จากความนิยมของจำนวนผู้ติดตามของ Influencer) ทำให้เวลาที่ Influencer โปรโมทสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็จะทำให้แบรนด์สินค้าหรือบริการเกิดการจดจำได้อย่างรวดเร็วและกลุ่มแฟนคลับก็มีแนวโน้มจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของเรามากขึ้น





6 หลักการพิจารณา Influencer ให้โดนและทำให้ปัง

1.กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน

         ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของการใช้ Influencer ให้ชัดเจน ว่าเราต้องการนำเสนอสินค้าหรือบริการการกับใคร ต้องการให้สินค้าบริการของเรานั้นตอบโจทย์ลูกค้าในเรื่องใด รูปแบบการนำเสนอควรเป็นแบบใด เช่น ต้องการสร้างให้เกิดการรับรู้ (Awareness) ในวงกว้าง หรือต้องการนำเสนอเนื้อหา ของสินค้าหรือบริการที่มีความเข้มข้นในรายละเอียดเพื่อสร้างลูกค้าเกิดความมั่นใจ เป็นต้น เมื่อเรามีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว จึงพิจารณา Influencer ที่เหมาะสมและมีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ


2.ภาพลักษณ์ของ Influencer

          ควรพิจารณาเลือก Influencer ที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีข่าวด้านลบ และมีบุคลิกที่สอดคล้องเข้ากันได้กับภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าหรือบริการของธุรกิจ ก็จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูน่าไว้วางใจ ไม่มี Comment เชิงลบจากลูกค้าตามมาภายหลัง


3.ผลงานของ Influencer ที่ผ่านมา

            เพื่อดูว่า Influencer ที่กำลังพิจารณาเลือก มีแนวทางในการทำงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสินค้าหรือบริการที่ตั้งไว้หรือไม่ รูปแบบของเนื้อหาของผลงานของ Influencer ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ติดตามมากน้อยเพียงใด การนำเสนอสินค้าหรือบริการนั้นมีความชัดเจนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการหรือไม่ เป็นต้น ก็จะสามารถช่วยทำให้การพิจารณาเลือก Influencer ที่มีความเหมาะสมกับงานได้ดียิ่งขึ้น


4.จำนวนผู้ติดตามของ Influencer ในแต่ละช่องทาง

         Influencer นั้นจะมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Instagram หรือ YouTube ก็ตาม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์ม ก็อาจจะไม่ได้มียอดผู้ติดตามสูงเสมอไป บางคนยอดผู้ติดตามใน Instagram สูง บางคนยอดผู้ติดตามใน YouTube สูง หรือบางคนมียอดใน Facebook สูง ดังนั้นจึงควรเลือก Influencer ที่มีความเหมาะสมกับสินค้าและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทั้งไว้  และไม่ควรพิจารณา Influencer จากยอดผู้ติดตามสูงเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาจากยอดแชร์หรือการถูกพูดถึง ยอด Reach กับ Engagement การมีส่วนรวมของผู้ติดตาม จึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการพิจาณาเลือก Influencer ด้วย


5. รูปแบบและวิธีการนำเสนอของ Influencer  

         Influencer แต่ละคนนั้นมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน เราจึงต้องพิจารณาความเชี่ยวชาญของ Influencer รวมถึงรูปแบบของเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าบริการที่ต้องการ เช่น คนนี้มีวิธีการเล่าเรื่องที่เก่ง คนนี้มีการถ่ายภาพที่สวย คนนี้เป็นผู้นำเทรนด์ด้านแฟชั่น คนนี้ทันสมัยติดตามข่าวสารได้ไว เป็นต้น และหากเราเลือก Influencer ที่ต้องการได้แล้ว ควรให้ Influencer ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้นๆ นำเสนองานตามสไตล์ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่เราต้องการและแจ้งข้อหลีกเลี่ยงต่างๆ ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้ Influencer สารถนำเสนองานได้อย่างเต็มที่เพื่อเกิดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี


6. งบประมาณที่เหมาะสม

        การพิจารณาเลือก Influencer ซึ่งบางคนมีผู้ติดตามมาก จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย และไม่ได้การันตีผลลัพธ์ว่าจะทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะมาซื้อสินค้าหรือบริการของเรามากขึ้น ฉะนั้นควรคัดเลือก Influencer และกำหนดงบประมาณที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ไม่มากจนเกินไป ให้อยู่ในกรอบที่ไว้เพื่อดูผลลัพธ์และหากได้ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ให้พิจารณาปรับปรุงแผนงานเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

 

        ซึ่งการใช้ Influencer Marketing ให้ได้ประสิทธิภาพนั้น นอกจาก 6 หลักการพิจาณา Influencer ข้างต้นแล้ว หากเราวางกลยุทธ์ในการใช้ Influencer ให้ ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา ก็จะช่วยทำให้แบรนด์สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักได้มากขึ้นและสามารถสร้างให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณเกิดการตัดสินใจซื้อได้ในที่สุด ลองนำไปใช้กันดูนะครับ:D


                                                                   การตลาด101 

 

                                       


วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

" Collaboration Marketing " ร่วมมือกันให้ปังกว่าเดิม

            ในปีที่ผ่านมานี้เราจะเห็นได้ว่ามีหลายบริษัท ได้นำกลยุทธ์ Collaboration Marketing หรือเรียกสั้นๆ ว่าการ Collab  มาใช้ในทางธุรกิจกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันเพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการทำผลิตภัณฑ์ แบบ Limited Edition หรือการออกแคมเปญทางการตลาดเฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายระยะสั้นหรือเพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้า เป็นต้น ซึ่งการทำ Collaboration Marketing นี้นอกจากจะเป็นแคมเปญทางการตลาดที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่จับมือกันสร้างสรรค์งานใหม่ๆจนเป็นกระแสความสนใจจากกลุ่มผู้ที่สนใจทั่วไปและกลุ่มลูกค้าของทั้ง 2 แบรนด์ที่ Collab กันทำให้เกิดการขยายฐานของลูกค้าและยังสามารถสร้างยอดขายรวมถึงภาพลักษณ์ใหม่ให้กับแบรนด์สินค้าหรือบริการของทั้ง 2 แบรนด์กันอีกด้วย


เข้าใจกลยุทธ์ Collaboration Marketing 

      กลยุทธ์ Collaboration Marketing  คือความร่วมมือกันระหว่าง 2 แบรนด์ที่สร้างสรรค์งานใหม่ๆในตลาดร่วมกันสามารถทำได้ทั้งกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือต่างประเภทอุตสาหกรรมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการร่วมมือกันของทั้ง 2 แบรนด์ต้องมีความชัดเจน  ว่าต้องการทำเพื่ออะไร และอยากให้เกิดอะไร นอกจากนี้พันธมิตรที่จะทำการ Collab ร่วมกันก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจและมีเป้าหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์นั้นจะต้องมีความเข้ากันได้ของแต่ละแบรนด์ด้วย ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันของทาง 2 แบรนด์ง่ายยิ่งขึ้นและได้ผลลัพธ์ของมาดีตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  


Collaboration Marketing ได้ประโยชน์อย่างไร

       1.สร้างการรับรู้ในวงกว้างได้ดี (Brand awareness)

จะเห็นได้ว่าหลายแบรนด์ที่ทำการ Collab กันในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ที่สนใจและลูกค้าของทั้ง 2 แบรนด์ได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างกระแสของตลาดและทำให้เกิดกการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย

 

2.ขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น (Customer Extension) 

การ Collab ของทั้ง 2 แบรนด์ ยังเป็นการขยายฐานลูกค้าจากแบรนด์หนึ่งไปอีกแบรนด์ หรือเป็นการแลกเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าระหว่างแบรนด์ และดึงดูดกลุ่มผู้ที่มีสนใจในการแบรนด์สินค้าบริการที่ Collab กัน ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ใหญ่ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะนำมาซึ่งยอดขายเช่นกัน


    3.ทำให้แบรนด์ดูทันสมัยขึ้น (Brand Image)                                 

    การ Collab เป็นการทำให้แบรนด์ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขี้นแบรนด์ไหนที่ที่มีภาพลักษณ์ที่มีมานานต้องการปรับตัวเองให้ดูทันสมัยหรือสร้างความแตกต่าง การ x กับแบรนด์ไหนสักแบรนด์นับว่าเป็นการสร้างความแตกต่างที่มีมาแต่เดิมได้เป็นอย่างดี หรือ ก็คือการทำให้ Brand Image มีการเปลี่ยนไปนั่นเอง


     4. สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค (Customer Experience)  

การ Collab นอกจากจะเป็นการสร้างความน่าสนใจและการขยายกลุ่มลูกค้าในวงกว้างแล้วยังเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ดีให้กับผู้บริโภคอีกด้วย  เช่น ได้รูปแบบของสินค้าหรือบริการใหม่ๆ หรือเมนูรสชาติอาหารหรือเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่ทำให้ไม่จำเจน่าเบื่อ เป็นต้น 


ตัวอย่างการทำ Collaboration Marketing ที่น่าสนใจ



1.Kbank x Blackpink

เป็นความร่วมมือกันระหว่าง 2 แบรนด์ที่สร้างสรรค์งานใหม่ๆ ในตลาดร่วมกันต่างประเภทอุตสาหกรรมกัน แคมเปญของธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการขยายฐานจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยการดังเอากลุ่มนักร้อง KPOP ระดับโลกอย่าง Blackpink มาทำการ Collab โดยการออกผลิตภัณฑ์บัตรเดบิต สามารถสรา้งความสนใจให้กับเหล่าแฟนคลับของ Blackpink ได้เป็นอย่างดี โดยแคมเปญนี้ติดยอดกระแสนิยมอันดับหนึ่งใน Twitter ทันทีทีมีการปล่อยออกมา 




2. Moo xNanyang Sneakers รองเท้าผ้าใบนักเรียนสู่สตรีมแฟชั่น

เปนการจับมือร่วมกันข้ามประเภทอุตสาหกรรม โดยแบรนด์ "Moo" เป็นแบรนด์ของดีไซน์เนอร์แนวหน้าของเมืองไทย คุณหมู ASAVA ร่วมมือกับรองเท้าผ้าใบในตำนาน "นันยาง" ในการสร้างโปรเจกต์ Moo x Nanyang Sneakers โดยควมร่วมมือนี้ทำให้ได้เห็นการนำรองเท้านันยางมาปรับโฉม ปรับสีสันให้ดูมีความทันสมัยมากขึ้นและเป็นการแตกไลน์สินค้าไลฟ์สไตล์นอกเหนือจากการเป็นรองเท้านักเรียน ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้นอีกด้วย 




3. เวเฟอร์ช็อกโกแลตคิทแคท x ไอศกรีมเนสเล่ ที่คอไอศกรีมห้ามพลาดเป็นการจับมือระหว่างแบรนด์ คิทแคท เวเฟอร์ช็อกโกแลตที่หลายๆคนชื่นชอบในรสชาติที่ถูกปากคนทั่วโลกกับไอศกรีมเนสเล่ ซึ่งทางบริษัทเนสเล่ ในประเทศ ออสเตรเลีย ได้เปิดตัวความหอมหวานอันแสนเย็นฉ่ำกับ “คิทแคท ไอศครีม สติ๊ก” ที่นำเอาจุดเด่นความอร่อยทุกอย่างของเวเฟอร์ช็อกโกแลตและไอศกรีมวลิลาจากเนสเล่ ซึ่งให้รสชาติที่หอมอร่อยและความหวานกำลังดีดังกล่าวมารวมไว้ในไอศกรีมแท่ง และได้มีการวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว สร้างกระแสความน่าสนใจได้เป็นอย่างดีสำหรับสาวกคิทแคทและไอศกรีมเนสเล่รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบไอศกรีมอีกด้วย

 

           จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ Collaboration Marketing  หากทั้ง 2 แบรนด์ มีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนรวมถึงการพิจารณาถึงองค์ประกอบของรายละเอียดดังที่กล่าวไปแล้วและมาถูกทางก็จะกลายเป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาฐานลูกค้าเก่า หรือการเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และที่สำคัญยังได้เป็นการช่วยปิดจุดอ่อนโดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายที่มีความถนัดแตกต่างกันมาเสริมสร้างความแข็งแรงให้กันและกันอีกด้วย ซึ่งการวัดผลของความสำเร็จของกลยุทธ์ Collaboration Marketing นี้ก็สามารถวัดผลได้โดยดูจากกระแสที่เกิดขึ้นจากผู้บริโภค และยอดขายที่เข้ามาสู่แบรนด์ที่ทำการ Collab นั่นเอง

 

                                                              #การตลาด 101 

 

 ..................................

ติดตามประเด็น บทความ เนื้อหาสาระอื่นๆที่น่าสนใจหรือ เสนอแนะ ติชม ได้ที่ 

Facebook https://www.facebook.com/Marketing101th 

Blockdit:https://www.blockdit.com/marketing101 

email : mktg_101@hotmail.com


 

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

เข้าใจตัวตนลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ด้วย Customer Persona

 

Customer Persona เป็นการวิเคราะห์และอธิบายลักษณะลูกค้าแบบที่มองลูกค้าเป็นตัวแทนของกลุ่มลูกค้าหลักของเรา โดยการใช้ข้อมูลวิจัยทางการตลาดและการเก็บข้อมูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจและ เห็นภาพพฤติกรรมต่างๆ ของลูกค้า เช่น การใช้ชีวิต การตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งข้อมูลการอธิบายลูกค้าด้วย Customer Persona จะมีความลึกซึ้งกว่าการอธิบายลักษณะของลูกค้าเป้าหมายทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

Customer persona มีความสำคัญกับการทำการตลาดอย่างไร ??

         การที่เจ้าของแบรนด์สินค้าสามารถเข้าใจลูกค้าผ่าน Customer Persona นี้จะช่วยให้สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าในด้านต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น สามารถวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้ง่ายขึ้น ทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างจุดขายทางการตลาด การกำหนดราคา กำหนดช่องทางการเพื่อการขาย   และการวางแผนการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย

         ซึ่งลักษณะของลูกค้าในแต่ละธุรกิจก็มีความแตกต่างกัน บางธุรกิจมีลักษณะของลูกค้าที่ใกล้เคียงกันหรือไม่แตกต่างกันมาก Customer Persona ก็คือการเก็บข้อมูลคุณลักษณะของลูกค้าที่เป็นตัวแทนของลูกค้าหลักมาวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ แต่บางธุรกิจมีลูกค้าที่หลากหลายกลุ่ม การสร้าง Customer Persona ก็จำเป็นต้องมีมากกว่า 1 ชุดเพื่อให้เห็นภาพคุณลักษณะของลูกค้าหลักในแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าและเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น


การสร้าง Customer Persona ทำอย่างไร ??

1. การระดมความคิดของคนในองค์กร 

          เพื่อนำเอาคุณลักษณะของลูกค้าหลักมาอธิบายให้คนในองค์กรเห็นภาพของลูกค้าและเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้การกำหนด  Customer persona ในแต่ละธุรกิจก็จะมีลักษณะที่ต่างกัน

 2. การวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของลูกค้า 

          เช่น การเก็บข้อมูลทาง Online หรือ Feedback  จากช่องทาง  Social Media ต่างๆ  หรือระบบ CRM ที่ทางลูกค้าได้มีการมาลงทะเบียนไว้ รวมถึงข้อมูลในช่องทาง Offline เช่น การสัมภาษณ์เชิงลึกจากลูกค้า ณ จุดขาย มารวบรวมเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นและทำการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนที่จะทำการวิเคราะห์คุณสมบัติในเชิงลึกด้านอื่นๆ ของลูกค้าต่อไป ซึ่งในกระบวนการนี้ข้อมูลที่ได้จากจะมีความละเอียดและน่าเชื่อถือมากกว่าในรูปแบบแรกเพราะเกิดจากการให้มูลของลูกค้าเอง


หลักการ 6 ข้อ ที่ใช้สร้าง Customer Persona 

         เมื่อได้ข้อมูลขั้นต้นทั้งหมดแล้วจึงนำมาสร้าง Platform ของ Customer Persona ในการอธิบายคุณลักษณะของลูกค้าหลักในมิติต่างๆ ซึ่งโดยมากแล้วจะมีประเด็นหลักที่ใช้ในการสร้าง Platform จะมีดังนี้


1. ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของลูกค้า (Customer Profiles)  

          เช่น ชื่อ อายุ เพศ การศึกษา ตำแหน่งงาน รายได้ ที่อยู่  ลักษณะครอบครัว บุคลิกภาพ เป็นต้น


2. ความสนใจของสินค้าที่ลูกค้าต้องการ (Priority Initiatives) 

          เนื้อหา ประเด็นหลัก ที่อธิบายว่าทำไมคนนี้ถึงสนใจในสินค้าและบริการของเรา แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะดึงดูดให้ลูกค้าสนใจสินค้าของเราได้


3. ปัจจัยหลักที่จะทำให้ลูกค้าซื้อ (Success Factors)  

         ประเด็นหลักที่จะทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการของเรา ด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้าหรือบริการของเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ในเรื่องใด ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


4. อุปสรรคที่ทำให้ลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อ (Perceived Barriers

        เช่น ความกลัวหรือความกังวลใจของลูกค้าต่างๆทีที่ทำให้ลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อ หรือ ข้ออ้างต่างๆ ที่พบบ่อยของลูกค้าในการปฏิเสธ


5. ขั้นตอนการตัดสินใจ (Decision Criteria) 

        ขั้นตอนการตัดสินใจรวมถึงความคาดหวังที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้าและบริการ เช่น การหาข้อมูลสินค้าหรือบริการจากเพจการที่รีวิวสินค้าบริการจากผู้ใช้จริง การดูสินค้าจริงที่หน้าร้าน กลับมาเปรียบเทียบราคาของสินค้าและให้บริการหลังการขาย หรือถามเพื่อนก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

 

6. กระบวนการในทุกจุดสัมผัส ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซื้อ ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการซื้อ (Customer Journey)  

        ซึ่งวิธีการซื้อสินค้าหรือบริการ เขาเดินทางมาเจอคุณได้ยังไง ผ่านอะไรบ้าง พบเห็นคุณจากช่องทางไหนบ้าง ในร้านค้าออฟไลน์ หรือร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น


         นอกจาก 6 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วหากมีประเด็นอื่นๆที่ทางเจ้าของแบรนด์สินค้าต้องการนำมาเพิ่มเติมเพื่อทำการวิเคราะห์ก็สามารถทำได้  ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและบริการ หากเราสามารถวิเคราะห์ Customer Persona ได้มากประเด็นในแต่ละกลุ่ม ก็จะยิ่งทำให้มีความเข้าใจในส่วนของ Customer Insight ของกลุ่มลูกค้าหลักของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถจะนำไปใช้วางแผนวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 


                                           ลองนำไปใช้กันดูนะครับ ;D 


                                              #การตลาด101